นางสาววิจิตรา ภูโคก
นายกเทศมนตรีตำบลกมลาไสย

จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม
เริ่มวันที่ วันที่ 16 ตุลาคม 2552






เมืองกมลาไสย
      ณ ดินแดนริมฝั่งน้ำปาวอันเป็นเสมือนสายโลหิตหล่อเลี้ยงผู้คนในจังหวัดกาฬสินธุ์ เดิมที่เรียกว่า "บ้านสระบัว ดงมะขามเฒ่า ปากห้วยกอก ท่างามน้ำดอกไม้" อันเป็นที่ตั้งอำเภอกมลาไสย ขึ้นตรงต่อจังหวัดกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งเมือง "กระมาลาไสย" ตามที่บันทึกไว้ในพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์ เมืองกระมาลาไสย และ เมืองขึ้น(พระราษฎรบริหาร (ทอง).มปป.สมุดข่อย) นับว่าเป็นเมืองที่มีมาแต่โบราณแห่งหนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ การตั้งบ้านแปลงเมืองของผู้คนในอดีตที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำปาว ยุคสมัยเดียวกับการตั้งเมืองกาลสิน(กาฬสินธุ์) อีกทั้งเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่ง ที่ก่อตั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งพระราษฎรบริหาร(เกษ) ได้พาผู้คน สมัครพรรคพวกร่วมกันก่อตั้งสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้น ประกอบกับมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานบันทึกไว้อย่างชัดเจน ถึงสภาพเศษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบันที่น่าสนใจยิ่ง ควรที่ลูกหลานชาวกมลาไสย จะได้ทราบถึงเรื่องราวในอดีตแห่งมาตุภูมิของตน มีความรัก ความภูมิใจ ในบรรพบุรุษที่ต้อสู้สร้างบ้านแปลงเมืองอันเป็นคุณใหญ่หลวงแก่ลูกหลานชาวกมลาไสยในปัจจุบัน

ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ก่อนการก่อตั้งเมืองกมลาไสย
     ภายหลังรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศา จนกระทั่งถึงรัชมัยพระเจ้าสิริบุญสารแห่งนครเวียงจันทร์ ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.2197 - 2324 เป็นช่วงที่เกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของผู้คนทางดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยเฉพาะผู้คนได้อพยพออกจากนครเวียงจันทร์ล้านช้าง ลงมาทางใต้เป็นจำนวนมาก กลุ่มผู้อพยพที่สำคัญได้แก่ กลุ่มเจ้าหัวคูยอดแก้ว วัดโพนเสม็ด (สีดา) ได้อพยพผู้คนลงมาตามลำแม่น้ำโขงจนในที่สุดได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นครจำปาศักดิ์ อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มของ พระวอ-พระตา ซึ่งเป็นเสนาบดีแห่งนครเวียงจันทร์ได้อพยพผู้คนลงมา ตั้งเมือง หนองบัวลุ่มภู เมื่อถูกเวียงจันทร์ ยกกองทัพมาปราบจึงอพยพผู้คนมาตั้งอยู่ที่ดอนมดแดง ห้วยแจละแม ดงอู่ผึ้ง ภายหลังได้ตังเป็นเมืองอุบลราชธานีและ อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มเจ้าผ้าขาว (ผู้ถือศีล นุ่วขาว ห่มขาว) เจ้าโสมพะมิตร ซึ่งอพยพจากนครเวียงจันทร์ ด้วยสาเหตุความขัดแย้งกับพระเจ้าสิริบุญสาร (พระราษฎรบริหาร (ทอง) มปป. สมุดข่อย)

     การอพยพของกลุ่มเจ้าผ้าขาว เจ้าโสมพะมิตร นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการก่อตั้งเมืองกาฬสินธุ์ในเวลาต่อมา กล่าวคือได้อพยพข้ามลำแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งอยู่บริเวณบ้านผ้าขาว พันนา พระธาตุเชิงชุม เมื่อเจ้าผ้าขาวถึงแก่กรรมแล้ว ท้าวโสมพะมิตรได้เป็นผู้นำกลุ่มนี้สืบมา โดยมีพระอุปชาเมืองแสน (ฆ้องโปง) และเมืองแสน(หน้าง้ำ) เป็ยผู้ช่วย ส่วนตำแหน่งอื่น ๆ ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ บริเวณบ้านผ้าขาวพันนา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเทือกเขาภูพานและอยู่ใกล้นครเวียงจันทร์ จึงถูกรบกวน และรุกรานจากนครเวียงจันทร์ อยู่เสมอโดยเฉพาะการเรียกเก็บส่วย ดังนั้นเพื่อเป็นการปลอดจากอำนาจของนครเวียงจันทร์ ท้าวโสมพะมิตร และเมืองแสน(หน้าง้ำ) จึงอพยพผู้คนประมาณ 5,000 คนเศษ ข้ามเทือกเขาภูพานมาทางด้านทิศใต้ มาหยุดพักชั่วคราวและสำรวจไพร่พล ปรากฏว่ามีประมาณ 5,000 คน จึงตั้งชื่อที่พักชั่วคราวนั้นว่า "บ้านกลางหมื่น" ตามจำนวนคน แต่ยังเห็นว่าบริเวณบ้านกลางหมื่นยังมีชัยภูมิไม่เหมาะสมที่จะตั้งบ้านเมืองอย่างถาวร จึงได้ส่งคนออกแสวงหาชัยภูมิที่เหมาะสมกว่าในการตั้งบ้านเมือง โดยมีท้าวไตร เป็นหัวหน้า ได้สำรวจพบชัยภูมิที่เหมาะสมในการตั้งบ้านเมืองซึ่งอยู่บริเวณริมน้ำปาว อันเป็นบริเวณที่เรียกว่า "แก่งส้มโฮงดงสงเปลือย" เป็นชัยภูมิที่เหมาะสม ด้านหนึ่งเป็นแม่น้ำ อีกด้านหนึ่งเป็นดง (ป่าไม้) มีน้ำอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำมาหากิน

     การตั้งชุมชนขึ้น ณ บริเวณ แก่งส้มโฮง ชายดงเปลือยแห่งนี้ เป็นอาณาเขตบริเวณที่อยู่ในอิทธิพลการเมืองการปกครองของราชสำนักกรุงเทพฯ แต่อย่างไรก็ตามชุมชนแห่งนี้ ก็ยังตั้งตนเป็นอิสระอยู่ประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2325 เจ้าโสมพะมิตรเห็นว่าควรจะขอพึ่งราชสำนักกรุงเทพฯ เพื่อให้ปลอดภัยจากอำนาจของนครเวียงจันทร์ โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกว่า ท้าวโสมพะมิตรได้นำเครื่องราชบรรณาการอันประกอบด้วย งาช้าง นอรมาด กาน้ำสำริด ให้แก่ราชสำนักกรุงเทพฯ (อมรวงศ์วิจิตร.2506) ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2336 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่ตั้งให้ท้าวโสมพะมิตร เป็น พระยาไชยสุนทร ตั้งให้ท้าวคำหวา เป็น อุปฮาด ทำราชการขึ้นตรงต่อราชสำนักกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา



     ในพงศาวดารเมืองกาฬสินธุ์ ฉบับพระราษฎรบริหาร (ทอง) ซึ่งบันทึกไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ระบุเขตแดนเมืองกาฬสินธุ์ไว้ดังนี้
เขตแดนเมืองกาฬสินธุ์
     เขตแดนเมืองกาฬสินธุ์ ตั้งแต่แม่น้ำพองข้างเหนือ มาตกชีข้างตะวันตกนั้น ตั้งแต่ลำน้ำพองตัดลัดไปห้วยไพรจาร ไปเขาทอกศอกดาว ตัดไปบ้านผ้าขาวพันนาบ้านเดิม ยอดลำน้ำสงครามตกแม่น้ำโขง เขตฝ่ายตะวันออกต่อแดนเมืองนครพนมแลเมืองมุกดาหาร ผ่านมาถึงภูพานตัดมาถึงภูเขาหลักทอดยอดยัง ตกแม่น้ำชีลำพะชีย์เป็นเขตข้างใต้ลำน้ำพระชีย์ต่อแดนเมืองร้อยเอ็ด และ ต่อแดนฌมืองยโสธร แต่ยังไม่ทันได้ตั้งเมือง .. (พระราษฎรบริหาร (ทอง) มปป.สมุดข่อย)
     ในการกำหนดเขตแดนดัวกล่าวเพื่อเป็นการบ่งบอกถึงบริเวณพื้นที่ตั้งเมืองเท่านั้น ไม่มีความหมายในทางปกครองมากนัก หลายเมืองมุ่งที่จะให้ความสำคัญเฉพาะตัวเมือง และคุ้มเจ้าเมืองนั้น อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานว่าหัวเมืองกาฬสินธุ์ได้เข้าไปรับผิดชอบ ควบคุม หรือเรียกเก็บผลประโยชน์แต่อย่างใด (ธีรชัย บุญมาธรรม.2528)
     ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างเมืองบริเวณใกล้เคียงกัน มีลักษณะความสัมพันธ์เป็นบ้านพี่เมืองน้องกันเสมอมา ดังปรากฏหลักฐานว่า กลุ่มเจ้าโสมพะมิตรเมืองกาฬสินธุ์ พี่สาวของพระยาไชยสุนทร (หมาแพง) ได้แต่งงานกับเจ้าฮาด ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์เจ้า สร้อยศรีสมุทรพุทธากูร แห่งนครจำปาศักดิ์ นอกจากนั้น เมืองแสน (หน้าง้ำ) ก็ได้อพยพครอบครัว บริวาร สมัครพรรคพวก แยกจากกลุ่มเจ้าโสมพะมิตร ไปสมทบกับกลุ่มพระวอ - พระตา ที่บ้านห้วยแจละแม ซึ่งภายหลังตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี ประมาณ พ.ศ.2325

สำนักงานเทศบาลตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
โทรศัพท์.0-438-99154, โทรสาร 0-4389-9088 ติดต่อเว็บมาสเตอร์ saraban@kamalasai.go.th หรือ ติดต่อ akaradach@hotmail.com
-->