นางสาววิจิตรา ภูโคก
นายกเทศมนตรีตำบลกมลาไสย

จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชม
เริ่มวันที่ วันที่ 16 ตุลาคม 2552








    ในยุคสมัยของพระราษฎรบริหารทองเป็นเจ้าเมืองกมลาไสย ท่านได้ปกครองบ้านเมือง เป็นปึกแผ่นมั่นคงมากขึ้น ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขและสงบเรียบร้อย จนหัวเมืองเล็กต่างๆ มาขึ้นตรงต่อเมืองกมลาไสย ซึ่งนับว่าเป็นความกล้าหาญ เข้มแข็ง และเป็นนักปกครองผู้มีปัญญาสามารถสูงยิ่ง ดังจะยกมาเป็นวีรกรรมสำคัญของท่าน ดังนี้ คือ

1.ช่วงเวลาที่พระราษฎรบริหาร(เกษ) ชราภาพลงมาก สุขภาพไม่ดี ทำงานราชการหนักไม่ได้ในราว พ.ศ. 2416 - 2419 พระราษฎรบริหาร(ทอง) ซึ่งขณะนั้นเป็นอุปฮาต เมืองกมลาไสยเป็นผู้บริหารราชการ และได้บำรุงวัดวาอาราม ปกครองดูแขวงต่างๆ แทนพ่อ ทุกด้าน จนเป็นที่พอพระทัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

2.ปี พ.ศ. 2419 ขณะที่เป็นอุปฮาตได้คุมไพร่พลแทนเจ้าเมือง นำกำลังยกไปสมทบกับเจ้าเมืองอื่นๆ ณ เมืองหนองคาย ซึ่งมีพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) เป็นแม่ทัพใหญ่ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองหนองคาย และได้ยกทัพข้ามแม่น้ำโขงไปตีข้าศึกอ้ายฮ่อ ที่ตั้งกองกำลังอยู่ตำบลวัดจัน เมืองเวียงจันทร์ จนข้าศึกแตกหนีมีชัยชนะกลับมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นพระราษฎรบริหารเจ้าเมืองกมลาไสยและพระราชทานพระราชอิสริยายศช้างเผือกสยามชั้นที่ 4 ชื่อ จตุถาภรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2422

3.ในราวปี พ.ศ. 2425 พระประชาชนบาล (มุง) เจ้าเมืองสหัสขันธ์กลับจากราชการปราบศึกอ้ายฮ่อ ณ เมืองหนองคาย กลับมาแล้วป่วยจนถึงแก่กรรม พระราษฎรบริหาร(ทอง) จึงได้มีใบบอกข้อราชการเสนอไปยังแม่ทัพ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ที่มาตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเขมราฐ เพื่อจัดราชการเมืองลาว เมืองเขมรตะวันออก ขอให้แต่งตั้งอุปฮาตบัวเมืองกมลาไสยผู้เป็นน้องชายเป็นเจ้าเมืองสหัสขันธ์ และต่อมาถูกร้องเรียนว่าทำการทุจริตเรียกเก็บเงินทองจากราษฎร จนกระทั่งถูกปลดจากตำแหน่ง พระราษฎรบริหาร(ทอง) จึงได้เสนอขอให้แต่งตั้งท้าวขัตติยวงษาน้องชายคนที่ 4 เป็นพระประชาชนบาลเจ้าเมืองสหัสขันธ์ ขึ้นต่อเมืองกมลาไสย

4.ในราวปี พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) เป็นแม่ทัพมาจัดระเบียบราชการเมืองลาว เขมร ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองเขมราฐ พระราษฎรบริหาร(ทอง)

    เห็นว่ากรมการเมืองกุดสิมนารายณ์เกิดความระส่ำระสายรวนเรและราษฎรประสบปัญหาเดือดร้อนนำเรื่องร้องเรียนมาขอพึ่งเมืองกมลาไสย พระราษฎรบริหาร(ทอง) พร้อมด้วยกรมการเมืองกมลาไสย จึงมีใบบอกไปยังท่านแม่ทัพ จนได้รับโปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวสุริยะเป็นเจ้าเมืองกุดสิมนารายณ์ ตั้งท้าวอินทิสารเป็นอุปฮาต ตั้งท้าววรบุตรเป็นราชวงศ์ ตั้งท้าวขัตติยะราชเป็นราชบุตร กรมการเมืองกุดสิมนารายณ์ให้ขึ้นกับเมืองกมลาไสย จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรับปรุงการปกครองหัวเมืองภาคอีสาน แบ่งเป็นหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก หัวเมืองลาวกลาง และเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งการปกครองแบบหัวเมืองดังกล่าวได้ถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2454 พระราษฎรบริหาร(ทอง) ได้ดำรงตำแหน่งเป็น พระราษฎรบริหารเจ้าเมืองกมลาไสย รวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 32 ปี และถึงแก่กรรมในราวปี พ.ศ. 2459 สิริรวมอายุประมาณ 70 ปี





    เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติเจ้าเมืองเทศบาลตำบลกมลาไสย และเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนชาวอำเภอกมลาไสย ในปีพุทธศักราช 2545 นายครรชิต ศรีบุญลือ นายอำเภอกมลาไสย และนายณรงค์ คูธนพิทักษ์กุล นายกเทศมนตรีตำบลกมลาไสย พร้อมด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ธนาคาร พ่อค้า และ ประชาชนชาวอำเภอกมลาไสย ได้สร้างอนุสาวรีย์ พระราษฎรบริหาร ขึ้น ณ บริเวณโรงเรียนมัธยมบริหารวิทยา (เดิม) โดย คุณยายรำไพ - คุณตานินนาท อัมมะพะ เป็นผู้บริจาคที่ดินจำนวน 3 ไร่ และเทศบาลตำบลกมลาไสย สนับสนุนงบประมาณ พร้อมเงินบริจาคจากประชาชนในเขตอำเภอกมลาไสย จำนวน 350,000 บาท ซึ่งได้อันเชิญรูปหล่อพระราษฎรบริหาร ขนาดเท่ากับตัวจริงขึ้นประดิษฐาน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2546 และได้ทำการปรับปรุงอีกครั้ง โดยเทศบาลตำบลกมลาไสย เมื่อ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2552

สำนักงานเทศบาลตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
โทรศัพท์.0-438-99154, โทรสาร 0-4389-9088 ติดต่อเว็บมาสเตอร์ saraban@kamalasai.go.th หรือ ติดต่อ akaradach@hotmail.com
-->